ประวัติความเป็นมา

          ศูนย์ TCI ก่อเกิดจากโครงการวิจัยขนาดเล็กภายใต้ทุนวิจัยพระจอมเกล้าธนบุรี ประจำปี พ.ศ. 2544 เรื่อง “การศึกษาและจัดทำดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการภายในประเทศ” โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ ดร.นงเยาว์ เปรมกมลเนตร คุณปรียานุช รัชตะหิรัญ คุณวชิราภรณ์ สุรธนะสกุล และ ผศ.ธีระศักดิ์ หมากผิน โดยสามารถแบ่งพัฒนาการของศูนย์ TCI ได้เป็น 4 ช่วง

TCI #1 (ก.ค. 44 – ก.พ. 45): เปิด “ลิ้นชัก” วารสารไทย

          ศูนย์ TCI เริ่มต้นจากความสนใจของหัวหน้าโครงการ คือ อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยรพระจอมเกล้าธนบุรี โดยในปี พ.ศ. 2543 อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้มีโอกาสพบกับทีมบริหารของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อาทิ เช่น ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, ศ.ดร.วิชัย บุญแสง, ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์, ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์, ศ.ดร.มรว.ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์, ผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน และท่านอื่นๆ ซึ่งท่านเหล่านี้ได้ปรารภว่า ตอนนี้อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่แล้ว บทความที่จะตีพิมพ์ต่อไปควรลงพิมพ์ในวารสารที่มีค่า Journal Impact Factors (JIF) สูงขึ้น ประเด็นนี้ ทำให้อาจารย์ ณรงค์ฤทธิ์ เกิดความสนใจว่า JIF คืออะไร มีผลกระทบกับคุณภาพของบทความอย่างไร วารสารไทย มีค่า JIF หรือไม่ ดังนั้น อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์จึงได้สร้างทีมวิจัยขึ้นมาเพื่อศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ โดยได้เริ่มต้นเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในปี 2544 
          วัตถุประสงค์หลักของโครงการวิจัยทุนวิจัยพระจอมเกล้าธนบุรี เรื่อง “การศึกษาและจัดทำดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการภายในประเทศ” คือการคำนวนค่า JIF ด้วยการ นับการอ้างอิงจากการเปิดวารสารทุกเล่มทุกบทความ โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาถึงค่าดัชนีผลกระทบการอ้างอิง (Journal Impact Factor, JIF) และค่าความเร็วของบทความที่ถูกนำไปอ้างอิง (Journal Immediacy Index, J-II) วิธีการคำนวณค่า JIF สำหรับวารสารวิชาการภายในประเทศ โดยมุ่งเน้นรายงานปริมาณการถูกอ้างอิง และความไวหรือความเร็วของบทความหนึ่งๆ ในวารสารที่ถูกนำไปอ้างอิงในปีเดียวกันกับที่บทความนั้นลงพิมพ์ในวารสารวิชาการในประเทศ โดยใช้วิธีการคำนวณตามหลักการของ Institute for Scientific Information (ISI) ซึ่ง นับเป็นครั้งแรก ที่ได้มีการจัดทำและรวบรวมดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โครงการวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาข้อมูลจากวารสารวิชาการในประเทศจำนวน 68 รายการ ที่ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. 2539-2543 ผลการวิจัยพบว่า วารสารวิชาการในประเทศทั้ง 68 รายการ มีค่า JIF เฉลี่ยเท่ากับ 0.069 ซึ่งบอกเป็นนัยว่าโอกาสที่บทความวิชาการเรื่องหนึ่งๆ ที่ลงพิมพ์ในวารสารวิชาการภายในประเทศที่จะถูกนำไปอ้างอิงมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.069 ครั้ง และวารสารไทยมีค่า J-II เฉลี่ยเท่ากับ 0.063 ซึ่งเป็นค่าที่น้อยมาก งานวิจัยนี้ได้ข้อค้นพบที่ชัดเจนว่า บทความที่ลงพิมพ์ในวารสารไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการอ้างอิงหรือถูกอ้างอิงน้อยมาก ซึ่งข้อค้นพบในโครงการนี้ ทำให้สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ทบทวนถึงความคุ้มค่าของการลงทุนในการจัดทำวารสารวิชาการภายในประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับสถาบันการศึกษาที่กำลังจะจัดทำวารสารวิชาการเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นการ “เปิดลิ้นชัก” นำข้อมูลการอ้างอิงของวารสารไทย ออกมาแสดงให้กับประชาคมวิจัยได้รับทราบเป็นครั้งแรก ทำให้วงการวิชาการไทยเกิดการตื่นตัว และมีความพยายามในการส่งเสริมให้มีการวิจัยในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง 

TCI #2 (ก.พ. 45 – มิ.ย. 47): สร้าง “Gate way” ให้กับบทความในวารสารไทย

          วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2544 คณะวิจัยฯ ของโครงการ “การศึกษาและจัดทำดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการภายในประเทศ” นำโดย อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ และคณะวิจัยฯ รวมทั้ง ศ.ดร.สมชาย ชูชีพสกุล รองอธิการบดี มจธ. ได้รับเชิญจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ไปนำเสนอผลงานวิจัยต่อผู้ทรงคุณวุฒิของ สกว. อันประกอบไปด้วย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ศ.ดร.วิชัย บุญแสง ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม ศ.ดร.มรว.ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์ ศ.ดร. โกศัลย์ คูสำราญ รศ.ดร.สุธีระ ประเสริญสรรพ์ คุณรุจเรขา อัศวิษณุ และ คุณชลนภา อานแก้ว เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานและรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผลจากการประชุม สกว. ยินดีสนับสนุนทุนวิจัยโดยให้คณะวิจัยฯ เพิ่มจำนวนวารสารที่ทำการศึกษาให้มากขึ้น ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น

รูปการนำเสนอผลงานวิจัยต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเข้าขอรับคำปรึกษาจากคุณรุจเรขา อัศวิษณุ

          ต่อมา สกว. ได้อนุมัติทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิจัยดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการภายในประเทศ” ในปี พ.ศ. 2545 โดยให้คณะวิจัยฯ พัฒนาฐานข้อมูลสำหรับวารสารไทย เพื่อสร้างทางเชื่อม “Gate way” ให้กับบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการไทย และให้สามารถศึกษาและรายงานปริมาณการอ้างอิงรวมทั้ง คำนวณค่า Journal Impact Factors (JIF) ให้กับวารสารวิชาการในประเทศได้แบบอัตโนมัติ แทนการนับการอ้างอิงด้วยมือที่ใช้ในโครงการวิจัยทุนวิจัยพระจอมเกล้าธนบุรีปี 2544 ตลอดจนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการเผยแพร่ผลงานวิชาการของนักวิจัยภายในประเทศ โดยคณะวิจัยฯ ได้รวบรวมวารสารวิชาไทยจำนวน 87 รายการที่ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. 2539-2544 มาทำการคัดเลือกและบันทึกข้อมูลบทความและข้อมูลรายการอ้างอิงเข้าไปในฐานข้อมูลที่ได้พัฒนาขึ้นเอง ผลจากการดำเนินงานพบว่า มีวารสารไทยเพียง 13 รายการ (คิดเป็น 15%) ที่มีค่า JIF อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีค่า JIF เฉลี่ย เท่ากับ 0.084 ซึ่งหมายความว่าบทความหนึ่งๆ ที่ตีพิมพ์ในวารสารไทยมีโอกาสถูกนำไปอ้างอิงเพียง 8.4% เท่านั้น นอกจากนี้คณะวิจัยฯ ยังได้รวบรวมข้อมูลการบริหารจัดการของวารสารไทยระหว่างปี พ.ศ. 2542-2544 จากวารสารจำนวน 25 รายการ พบว่า งบประมาณเฉลี่ยที่ใช้ในการจัดทำวารสารไทยเท่ากับ 198,034 บาท/ปี และค่าเฉลี่ยของจำนวนฉบับที่วารสารไทยตีพิมพ์เท่ากับ 3.52 ฉบับ/วารสาร/ปี 
          หลังจากทราบผลการดำเนินงานวิจัยจากโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาวิจัยดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการภายในประเทศ” แล้ว คณะวิจัยฯ จึงได้ร่วมมือกับ สกว. ในการจัดสัมมนา เรื่อง “ดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการในประเทศ” และ “การระดมความคิดเกี่ยวกับคุณภาพวารสารไทย” ขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2546 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนาจำนวน 182 คน การสัมมนาในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก ของประเทศไทยที่ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างบรรณาธิการวารสารไทย ผู้บริหารองค์กรระดับประเทศ ผู้อำนวยการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและคุณภาพงานวิชาการ และนักวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเผยค่าดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการไทย และมีเป้าหมายในการวิเคราะห์สถานการณ์และสถานภาพของคุณภาพและประสิทธิภาพการเผยแพร่ผลงานวิจัย/วิชาการของนักวิชาการไทย การสัมมนาแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ “การนำเสนอผลงานวิจัย การจัดทำดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการภายในประเทศ” โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ และ “มุมมอง ทัศนคติและข้อคิดเห็นต่อผลงานวิจัย ค่าดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการภายในประเทศ และ การระดมความคิดเกี่ยวกับคุณภาพวารสารไทย” โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และ ศ.ดร.มรว.ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์ ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ และช่วงสุดท้ายเป็น “การเสวนาและระดมความคิด แนวทางการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทยสู่มาตรฐานระดับนานาชาติ” โดย มรว.ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์ (บก. ScienceAsia) ศ.ดร.สุรนันต์ สุภัทรพันธ์ (บก. Thai. J. Agri. Sci.) และ คุณรุจเรขา อัศวิษณุ (สารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์) ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.วิชัย บุญแสง ผลจากการสัมมนาสามารถสรุปได้ว่า ผู้เข้าร่วมการสัมมนาต้องการให้มีการจัดประชุมในลักษณะนี้ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมการตีพิมพ์และการจัดทำวารสารไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับให้มากขึ้น และควรมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับบรรณาธิการวารสารรวมทั้งผู้เขียนบทความ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการจัดทำวารสาร และการส่งบทความไปลงพิมพ์ในวารสารที่ดีต้องทำอย่างไร รวมทั้งควรมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องในแง่ของพฤติกรรมการอ้างอิงของนักวิชาการไทย เป็นต้น

TCI #3 (ก.ค. 47 – เม.ย. 51): พัฒนา “Gate way” ให้มีประสิทธิภาพ

          หลังจากการจัดสัมมนาที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2546 ผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน รองผู้อำนวยการ สกว. ได้ร่วมหารือกับ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร (อธิการบดี มจธ. ในขณะนั้น) และ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เพื่อร่วมกันจัดตั้งศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทยให้เป็นหน่วยงานกลางในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพวารสารไทย รวมทั้งรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวารสารไทยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดย สกว. เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนในการดำเนินงาน และ มจธ. เป็นผู้รับผิดชอบให้กรอบอัตราของบุคลากร รวมทั้งสถานที่ตั้งของศูนย์ TCI 
          วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 สกว. ได้อนุมัติข้อเสนอโครงการ “การพัฒนาฐานข้อมูลวารสารวิชาการภายในประเทศ” พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทยขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อรายงานค่าดัชนีผลกระทบการอ้างอิงสำหรับวารสารวิชาการในประเทศ และนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีฐานข้อมูลที่สามารถสืบค้นข้อมูลบทความและข้อมูลการอ้างอิงในแต่ละบทความที่ลงพิมพ์ในวารสารวิชาการไทยได้ในระบบออนไลน์ (Online Database) ในการนี้ ศูนย์ฯ ได้ออกแบบและพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บข้อมูลบทความและข้อมูลการอ้างอิงของวารสารไทย รวมทั้งได้จัดทำคู่มือการบันทึกข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูล สำหรับการคัดเลือกวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI นั้น ศูนย์ฯ ได้พัฒนาเกณฑ์ในการคัดเลือกวารสารในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น โดยในวันศุกร์ที่ 26 พ.ย. 2547 ศูนย์ TCI ได้ดำเนินการสัมมนาเรื่อง “ศูนย์พัฒนาฐานข้อมูลวารสารวิชาการภายในประเทศ” และ “เกณฑ์ในการคัดเลือกวารสารใหม่เข้าสู่ฐานข้อมูล TCI” ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ (ห้องราชเทวี) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ศูนย์ TCI และกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI ตลอดจนทำข้อตกลงและกำหนดแนวทางร่วมกัน ในการกรอกข้อมูลบทความของวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI โดยได้เชิญบรรณาธิการและผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในกองบรรณาธิการวารสาร บรรณารักษ์และผู้ให้บริการด้านสารสนเทศ อาจารย์ ผู้บริหาร นักวิจัย และผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 119 คน บทสรุปจากการสัมมนาได้มีข้อเสนอแนะให้ศูนย์ TCI มุ่งเน้นในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นข้อมูลการตีพิมพ์และข้อมูลการอ้างอิง ของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารไทยให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และได้เกณฑ์ในการคัดเลือกวารสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI 

รูปภาพบรรยากาศจากการสัมมนาเรื่อง “ศูนย์พัฒนาฐานข้อมูลวารสารวิชาการภายในประเทศ” และ “เกณฑ์ในการคัดเลือกวารสารใหม่เข้าสู่ฐานข้อมูล TCI” ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ

          ในช่วงระยะเวลา 3 ปี หลังจากที่มีการก่อตั้งศูนย์ TCI ภายใต้โครงการ “การพัฒนาฐานข้อมูลวารสารวิชาการภายในประเทศ” ทำให้ทราบว่า วารสารในฐานข้อมูล TCI จำนวน 166 รายการ มีจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2549 จำนวน 21,184 บทความ โดยมีปริมาณการอ้างอิงเท่ากับ 9,555 ครั้ง คิดเป็นอัตราส่วนที่ถูกอ้างอิงเท่ากับ 0.451 ครั้ง/บทความ วารสารในฐานข้อมูล TCI มีค่า TCI Impact Factors, ค่า Journal Immediacy Index และ ค่า Journal Cited Half-life เฉลี่ยระหว่างปี พ.ศ. 2545-2549 เท่ากับ 0.060, 0.044 และ 5.2 ปี ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า ค่า TCI Impact Factors ของวารสารไทยระหว่างปี พ.ศ. 2545-2550 มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทั้งในด้านจำนวนวารสารที่ปรากฏค่า TCI Impact Factors และปริมาณของค่า TCI Impact Factors ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวารสารไทยในฐานข้อมูล TCI ถูกนำไปใช้อ้างอิงเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี 

ค่า TCI Impact Factors ของวารสารไทยระหว่างปี พ.ศ. 2545-2550

          ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว การดำเนินงานของศูนย์ TCI ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อวงการวิชาการของประเทศหลายประการ อาทิเช่น การมีฐานข้อมูลที่สามารถสืบค้นข้อมูลการตีพิมพ์และการอ้างอิงของบทความในวารสารไทยได้ ส่งผลให้มีการนำความรู้และผลที่ได้จากการวิจัยไปประยุกต์ใช้ได้ในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีการนำข้อมูลที่ได้จากฐานข้อมูล TCI ไปใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการกำหนดนโยบายเกี่ยวข้องกับวารสารและคุณภาพงานวิจัย การประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการ การให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานของวารสาร และการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI ส่วนใหญ่ เป็นวารสารทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่าวารสารในสาขาอื่นๆ
          ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2551 คณะอนุกรรมการกลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับ สกว. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเรื่อง “โครงการจัดทำฐานข้อมูลวารสารไทย: สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์“ แก่ศูนย์ TCI เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับสืบค้นข้อมูลการตีพิมพ์ และข้อมูลการอ้างอิงของวารสารไทยสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศูนย์ TCI จึงได้ร่วมมือกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย คุณศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะฯ ในการรวบรวม บันทึกข้อมูลการตีพิมพ์และข้อมูลการอ้างอิงของบทความในวารสาร สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของไทย โดยใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ของศูนย์ TCI โดยใช้เกณฑ์ในการคัดเลือกวารสารคล้ายคลึงกับเกณฑ์สำหรับวารสารด้านวิทยาศาสตร์ฯ ปัจจุบัน ศูนย์ TCI มีคณะทำงาน 2 ส่วน คือ คณะทำงานวารสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนิน งานโดย ศูนย์ TCI ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้รวบรวม บันทึกข้อมูล จัดเก็บ ตรวจสอบข้อมูล และประกาศค่าดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ คณะทำงานวารสารด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดำเนิน การโดย ศูนย์ TCI ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้รวบรวม บันทึกข้อมูล จัดเก็บ ตรวจสอบข้อมูล ของวารสารสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการตีพิมพ์และข้อมูลการอ้างอิงของวารสารทั้งสาขาวิทยาศาสตร์ฯ และมนุษยศาสตร์ฯ ยังรวมอยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน คือ ฐานข้อมูล TCI 

(a)

(b)

รูปคณะทำงานศูนย์ TCI (a) คณะทำงานวารสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจธ. และ (b) คณะทำงานวารสารด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สำนักหอสมุด มธ.

TCI #4 (พ.ค. 51 – ปัจจุบัน): สร้าง “International gate way”

          จากการดำเนินงานของศูนย์ TCI ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่า วารสารไทยส่วนใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลทั้งในด้านการบริหารจัดการ ลักษณะรูปเล่ม และการนำไปใช้อ้างอิง แม้กระทั่งวารสารบางรายการที่ถูกอ้างอิงมากในวารสารนานาชาติ ยังคงถูกอ้างอิงน้อยในกลุ่มวารสารไทย เช่น Southeast Asian J Trop Med & Public Health เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า วารสารไทยมีค่าดัชนีผลกระทบการอ้างอิงค่อนข้างต่ำ และมีวารสารเพียง 15 ชื่อเรื่องที่มีค่า Journal Impact Factors อย่างต่อเนื่อง และการอ้างอิงส่วนใหญ่เป็นการอ้างอิงของเจ้าของบทความเอง ประกอบกับข้อมูลจากการจัดประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมาของศูนย์ TCI เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2546 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล และวันที่ 26 พฤศจิกายน 2547 ณ โรงแรมเอเชีย รวมทั้งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นข้างต้น ศูนย์ TCI มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมกล้าธนบุรี ร่วมกับ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้ดำเนินการจัดประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการ ครั้งที่ 3 ขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2551 ณ ห้องบอลรูม เอ โรงแรมมารวย การ์เด้นท์ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานสภาพของวารสารไทยในปัจจุบันและสร้างความตระหนักต่อความสำคัญของคุณภาพวารสารที่มีต่อการพัฒนาด้านวิชาการของประเทศ รวมทั้งเพื่อเป็นเวทีให้บรรณาธิการวารสาร และผู้เกี่ยวข้อง มาพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น มุมมอง และปัญหาที่พบ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางเพื่อการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยให้มีบทบาทในการพัฒนาสังคมไทยต่อไป การประชุมครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 189 คน ประกอบด้วย กองบรรณาธิการวารสาร ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และ ผู้สนใจ/ผู้เกี่ยวข้องกับวารสาร เนื้อหาของการประชุมแบ่งออกเป็น 4 ช่วง คือ 1) การบรรยายเรื่องการจัดการวารสารสากลที่ดีทำอย่างไร 2) การบรรยายเรื่องภาพรวมของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย และสถานภาพปัจจุบันของวารสารทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของประเทศไทยในฐานข้อมูล TCI 3) การเสวนาเรื่องปัญหาและแนวทางการพัฒนาคุณภาพวารสารไทย และ 4) การระดมสมองเพื่อหาแนวทางในการสร้างเครือข่ายและพัฒนาคุณภาพวารสารไทยทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
          ผลจากการประชุมสามารถสรุปได้ว่า ผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกองบรรณาธิการของวารสารและผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำวารสารวิชาการ ต้องการให้มีการจัดประชุมในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบรรณาธิการวารสารต่างๆ และเป็นเวทีในการรับทราบข้อมูลสถานภาพของวารสารไทยทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สำหรับประเด็นที่ได้จากการระดมสมองพบว่า ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางในการพัฒนาวารสารไทยให้มีคุณภาพระดับสากล การใช้ค่า Journal Impact Factors ในการประเมินคุณภาพวารสาร การให้ทุนสนับสนุนในการจัดทำวารสารของ สกอ. เป็นต้น นอกจากนี้แล้วผู้เข้าร่วมการประชุมต้องการให้ศูนย์ TCI ทำการปรับปรุงระบบการค้นหาข้อมูลและการแสดงผลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และควรมีการพัฒนาฐานข้อมูลผู้เขียนบทความและสาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อประโยชน์ในการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาบทความ และควรร่วมมือกันรับผิดชอบในการผลิตวารสารให้มีคุณภาพสูงขึ้น 

รูปภาพบภาพบรรยากาศการจัดประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายฯ ครั้งที่ 3

          จากกิจกรรมดังกล่าว จะเห็นว่า หน่วยงานหลายแห่งในประเทศ อาทิเช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ตลอดจนบรรณาธิการวารสารต่างๆ มีความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพวารสารไทยให้มีมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ มีวารสารไทยจำนวนหนึ่งปรากฎในฐานข้อมูลของ Thomson Reuters และฐานข้อมูล SCOPUS การที่วารสารไทยไปปรากฎในฐานข้อมูลนานาชาติดังกล่าว ทำให้ข้อมูลการตีพิมพ์บทความ และข้อมูลการอ้างอิงบทความในวารสารต่างๆ เหล่านี้ มีการเข้าถึงอย่างสะดวก รวดเร็ว และในวงกว้าง ซึ่งเป็นการเผยแพร่และส่งเสริมกิจกรรมวิจัยของประเทศไทยไปสู่เวทีนานาชาติได้อย่างดียิ่ง 
          จากการที่ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว. และ สกอ. มีภารกิจหลักข้อหนึ่ง คือ การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยสู่มาตรฐานสากล ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย จึงได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักพิมพ์ Elsevier คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมกล้าธนบุรี และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการจัดให้มีการประชุมเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 4 ในวันที่ 20-21 สิงหาคม 2552 ณ โรงแรม เซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยในปีนี้ศูนย์ TCI ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักพิมพ์ Elsevier ร่วมบรรยายและให้ความรู้ความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล SCOPUS รวมถึงความสำคัญและการบริหารจัดการวารสารในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-journal) แก่บรรณาธิการของวารสารไทย เพื่อพัฒนาวารสารไทยให้มีคุณภาพและเป็นประโยชน์สูงสุดทั้งในระดับชาติ และนานาชาติต่อไป โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 210 คน ประกอบด้วยบรรณาธิการ กองบรรณาธิการวารสาร นักวิชาการและนักวิจัย ผู้บริหารสถาบันในประเทศไทย และบรรณาธิการวารสารในภูมิภาคอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย และไต้หวัน เข้าร่วมประชุมด้วย
          สำหรับกำหนดการประชุมแบ่งออกเป็น 2 วัน โดยในวันแรกได้รับเกียรติจาก รองผู้อำนวยการ สกว. ผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม โดยหัวหน้าศูนย์ TCI ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ ได้กล่าวถึงเหตุผลของการจัดประชุม จากนั้นเป็นการบรรยายโดยวิทยากรจากสำนักพิมพ์ Elsevier และศูนย์ TCI เพื่อร่วมกันยกระดับวารสารไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากลได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งในการพิจารณาวารสารนานาชาติเข้าสู่ฐานข้อมูลของ Scopus โดยปกตินั้น บริษัท Elsevier จะมีกระบวนการกลั่นกรองวารสารต่างๆ ที่ส่งเข้ามาประเมินผ่าน คณะกรรมการคัดเลือกเนื้อหา (Content Selection Advisory Board : CSAB) ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศต่างๆในหลากหลายสาขาวิชาจำนวน 20 คน ซึ่งทำให้วารสารซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ได้รับการพิจารณาค่อนข้างช้า โดยเฉพาะวารสารที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาอังกฤษ ดังนั้น เพื่อพัฒนากระบวนการในการพิจารณาวารสารไทยเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus บริษัท Elsevier ได้ริเริ่ม Local CSAB กับประเทศไทยเป็นแห่งแรก โดยทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมีศูนย์ TCI เป็นฝ่ายเลขานุการ โดย สกว. เป็นผู้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในระดับศาสตราจารย์จากสาขาวิชาต่างๆ จำนวน 20 คน เพื่อมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการคัดเลือกวารสารไทย ซึ่งเรียกว่า Local CSAB เมื่อคณะกรรมการชุดนี้ได้พิจารณาคัดเลือกวารสารไทยที่ดีและมีคุณภาพ สมควรได้รับการบรรจุในฐานข้อมูล Scopus แล้ว TCI จะเป็นผู้ส่งรายชื่อวารสารเหล่านั้นไปยังฐานข้อมูล Scopus เพื่อการบรรจุในฐานข้อมูล Scopus ต่อไป กระบวนการนี้ เป็นช่องทางหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยสู่สากล และเพิ่มการมองเห็น (Visibility) วารสารไทยในเวทีโลก
          การดำเนินงานของศูนย์ TCI ร่วมกับบริษัท Elsevier นับเป็นการสร้าง “International gate way” ทางหนึ่งให้กับวารสารไทย สำหรับในวันที่สองของการสัมมนา เป็นเวทีการเสวนาและระดมสมองของนักวิชาการไทยเรื่อง “แนวคิดและมุมมองของนักวิจัยไทยกับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการไทย” และ“ประสบการณ์และบทเรียนที่ได้รับจากการจัดทำวารสารไทยและแนวทางในการพัฒนาวารสารไทยสู่เวทีนานาชาติ” โดยบรรณาธิการวารสารและนักวิจัยไทยจำนวน 5 ท่าน

รูปภาพบภาพบรรยากาศการจัดประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายฯ ครั้งที่ 4

          นอกจากนี้แล้ว ศูนย์ TCI ยังได้รับเกียรติจาก Ministry of Higher Education Malaysia ประเทศมาเลเซียที่เข้ามาเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ TCI เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 เพื่อเป็นแนวทางในการจัดตั้ง Malaysian Citation Index Centre (MCI) ของมาเลเซีย ที่จะทำงานในลักษณะเดียวกันกับศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) จำนวน 6 ท่าน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนระดับสูงที่เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านวิจัยและพัฒนา ด้านนโยบายและแผน ด้านคอมพิวเตอร์ ด้านการควบคุมคุณภาพมหาวิทยาลัย และด้านห้องสมุด ภายใต้การนำของ Prof. Dr. Abu Bakar Salleh, Deputy Vice Chancellor of Research and Innovation, Universiti Putra Malaysia เดินทางมาเยี่ยมชม ศึกษาดูงานของศูนย์ TCI ตั้งแต่ประวัติการก่อตั้ง การบริหารจัดการ งบประมาณ การดำเนินงาน ผลที่ได้รับ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ โดยมี ผศ.ดร. วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน รองผู้อำนวยการ สกว. ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ ดร.นงเยาว์ เปรมกมลเนตร และทีมงาน ให้การต้อนรับ ซึ่งการศึกษาดูงานดังกล่าวจะทำให้การจัดตั้งศูนย์ MCI ของมาเลซีย สามารถดำเนินงานได้รวดเร็วมากขึ้น และนำมาสู่ความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างไทย-มาเลเซีย ต่อไป

รูปบรรยากาศการเยี่ยมชมศูนย์ TCI ของคณะผู้เยี่ยมชมจาก Ministry of Higher Education Malaysia