Home » Activity » การประชุม “นโยบาย ผลสัมฤทธิ์ และการมอบรางวัลแก่วารสารในโครงการ TCI-TSRI-Scopus Collaboration Project”

การประชุม “นโยบาย ผลสัมฤทธิ์ และการมอบรางวัลแก่วารสารในโครงการ TCI-TSRI-Scopus Collaboration Project”

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย [Thai-Journal Citation Index (TCI) Centre] ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดประชุมเรื่อง “นโยบาย ผลสัมฤทธิ์ และการมอบรางวัลแก่วารสารในโครงการ TCI-TSRI-Scopus Collaboration Project” ณ โรงแรมอีสตินพญาไท ถ.พญาไท กรุงเทพฯ เพื่อประชาสัมพันธ์ความเป็นมาและผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามโครงการฯ ที่ผ่านมา รวมทั้งรับทราบนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยในอนาคต โดยมีบรรณาธิการและกองบรรณาธิการวารสารของไทยจำนวนมากกว่า 200 ท่าน

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศและแนวทางการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย” ได้กล่าวถึง ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย และขอชื่นชมบรรณาธิการวารสารในโครงการฯ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยมีจำนวนบทความวารสารใน Scopus สูงขึ้น นอกจากนั้นในเชิงคุณภาพวารสารยังพัฒนาอยู่ใน Quartile  1 และ 2 แสดงให้เห็นถึงคุณภาพที่สูงขึ้นของบทความของประเทศไทยด้วย

ในอดีตที่ผ่านมาการเผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในระดับนานาชาติ ดังจะเห็นได้จากในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2548-2560 มีจำนวนวารสารไทยอยู่ในฐานข้อมูล Scopus เพียง 28 วารสาร (Scopus คือ ฐานข้อมูลสากลที่รวบรวมวารสารจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจำนวน 27,950 รายการ และเป็นฐานข้อมูลหลักที่ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก)  จากสถิติพบว่า Scopus ใช้เวลาในการพิจารณาวารสารไทยเข้าฐานข้อมูลเฉลี่ย 16 เดือน/วารสาร และอัตราการรับวารสารไทยเข้าฐานข้อมูลนี้อยู่ที่ 23% เท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่า วารสารไทยที่ได้รับการบรรจุใน Scopus แล้ว ยังมี Journal Quartile ที่ต่ำ คือวารสารส่วนใหญ่อยู่ใน Quartile 4 หรือไม่มี Quartile รวมทั้งไม่มีวารสารไทยอยู่ใน Quartile 1

สกสว. ศูนย์ TCI มจธ. และเนทเทค สวทช.  จึงได้ร่วมมือดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มผลผลิต/การอ้างอิงของผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยสู่ฐานข้อมูลสากล เพื่อพัฒนาคุณภาพวารสารไทยให้มีมาตรฐานสากล และผลักดันวารสารจำนวน 40 รายการ เข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus โดยวิธีพิเศษ ภายในปี 2560-2563 ซึ่งศูนย์ TCI ร่วมกับบรรณาธิการวารสาร ซึ่งวารสารแต่ละรายการจะดำเนินการพัฒนาคุณภาพวารสารให้มีคุณภาพระดับสากลโดยใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือน จนได้รับการยอมรับบรรจุในฐานข้อมูล Scopus ทั้ง 40 รายการ คือมีอัตราการรับวารสารเข้าฐานข้อมูล Scopus 100% และ Scopus ใช้เวลาในการพิจารณาโดยเฉลี่ย 24 วันเท่านั้น

ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา จำนวนวารสารไทยใน Scopus มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อพัฒนาคุณภาพวารสารไทยจำนวน 46 รายการในฐานข้อมูล Scopus ให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น สกสว. จึงได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในโครงการพัฒนาระบบและปรับปรุงคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus ในปี 2563-2565 เพื่อพัฒนาคุณภาพวารสารและคุณภาพบทความของนักวิชาการไทยในวารสารไทยทั้งในเชิงการบริหารจัดการและเชิงคุณภาพ รวมทั้งยกระดับ Journal Quartile ของวารสารไทยใน Scopus ให้มี Quartile ที่สูงขึ้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดการดำเนินงานทั้งสองโครงการฯ คือ จำนวนบทความประเภท article and review ของประเทศไทยระหว่างปี 2560-2565 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นถึง 101% เมื่อเทียบกับ 37% ช่วงปี 2555-2560 ก่อนมีโครงการนี้  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน พบว่าประเทศไทยมีจำนวนบทความในฐานข้อมูล Scopus เพิ่มขึ้นอยู่ในอัตราที่สูงกว่าจำนวนบทความของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีที่ประเทศไทยมีจำนวนบทความใน Scopus สูงกว่าของประเทศสิงคโปร์ในช่วงเวลาเดียวกันยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาเฉพาะบทความไทยที่ปรากฏในวารสารไทย พบว่ามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นบทความวารสารที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนปีละมากกว่า 2,200 บทความ ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยในระดับโลก

ด้านคุณภาพ พบว่า บทความในวารสารไทยมีคุณภาพสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยพิจารณาจาก journal quartile ที่สูงขึ้นของวารสารในโครงการฯ กล่าวคือ มีวารสารไทยที่อยู่ใน Quartile 1 จำนวน 2 วารสาร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการวารสารวิชาการไทย รวมทั้งมีวารสารใน Quartile 2 จำนวน 7 วารสาร, Quartile 3 จำนวน 13 วารสาร, Quartile 4 จำนวน 24 วารสาร ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของ Journal Quartile นี้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพที่สูงขึ้นของบทความวิชาการไทยบนเวทีโลกได้อย่างชัดเจน

รศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้กล่าวถึง นโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยในอนาคต พร้อมทั้งยังให้การยืนยันกับบรรณาธิการวารสารว่า สกสว. จะยังคงสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยทั้งภายใต้โครงการนี้ และวารสารใหม่อีกจำนวนหนึ่งเพื่อบรรจุเข้าฐานข้อมูล Scopus ต่อไป และกล่าวแสดงความยินดีแก่วารสารที่ได้รับรางวัลในคร้ังนี้ด้วย

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ได้กล่าวถึง บทบาทที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับศูนย์ TCI ในการยกระดับคุณภาพวารสารวิชาการไทย ตั้งแต่ปี 2558 ที่ได้ให้การสนับสนุนบุคลากรและพัฒนาระบบ เช่น Thai Journals Online ซึ่งเป็นระบบจัดการวารสารออนไลน์ ปัจจุบันมีวารสารใช้งานระบบนี้จำนวน 1,270 วารสาร ฉบับที่เผยแพร่จำนวน 23,599 ฉบับ เผยแพร่บทความจำนวน 251,198 บทความ มีผู้ใช้จำนวน 551,010 รายการ และยอดการใช้งานมากกว่า 1,000,000 ครั้งต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง, ระบบ Fast-track Indexing เพื่อสนับสนุนการบันทึกข้อมูลบทความวารสารแต่ละบทความเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล TCI, ระบบ Thailand Research Analysis and Performance (ThaiRAP) ซึ่งเป็นระบบวิเคราะห์ผลงานวิจัยของประเทศไทย เป็นต้น พร้อมยืนยันว่า เนคเทคจะเป็นส่วนหนึ่งกับศูนย์ TCI ที่จะร่วมพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย รวมถึงจะเป็นฐานรากทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูงให้กับทุกหน่วยงานที่สนใจทำเรื่องดิจิทัลโซลูชันต่อไป

ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้กล่าวถึง ศูนย์ TCI ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คือในเชิงโครงสร้างอยู่ภายใต้สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) ของ มจธ ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ TCI ก็เป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย ทีมงานของศูนย์ TCI เกือบทั้งหมดเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย ดังนั้น มจธ. จะให้การส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ TCI ต่อไป และแสดงความชื่นชม ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพและทีมงาน ตลอดจนบรรณาธิการวารสารทุกท่านที่ทำงานอย่างเข้มแข็งจนทำให้เรามาถึงวันนี้ด้วยความภาคภูมิใจ

ทั้งนี้ในการประชุมฯ ยังได้มีพิธีมอบรางวัล TCI-TSRI Journal Award ให้กับบรรณาธิการวารสารที่มีผลผลิตและผลการดำเนินงานโดดเด่นในช่วงระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการในระหว่างปี 2563-2565 จำนวน 3 ประเภทรางวัล รางวัลวารสารละ 300,000 บาท จำนวน 8 วารสาร ได้แก่

รางวัลที่ 1 : Most Improved Percentile Award

ลำดับ ชื่อวารสาร มหาวิทยาลัย/สังกัด Chief editor
1. ISSN : 0858-0855
ABAC Journal
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดร.อัปสร มีสิงห์
Dr.Absorn Meesing
2. E-ISSN : 2465-4418
Journal of Population and Social Studies
มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.เกียรติคุณ ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา
Emeritus Prof.Dr.Churnrurtai Kanchanachitra
3. ISSN : 1513–5934
E-ISSN : 2651-1479
rEFLections
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผศ.ธนิศร์ ตั้งกิจเจริญกุล
Asst.Prof.Thanis Tangkitjaroenkun

รางวัลที่ 2 : High Citation Award

ลำดับ ชื่อวารสาร มหาวิทยาลัย/สังกัด Chief editor
1. ISSN : 2672-9156
E-ISSN : 2673-0421
Applied Science and Engineering Progress
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ศ. ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน
Prof.Dr.Suchart Siengchin
2. ISSN : 1686-5456
E-ISSN : 2408-2384
Environment and Natural Resources Journal
มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.เบญจภรณ์ ประภักดี
Assoc.Prof.Dr.Benjaphorn Prapagdee
3. E-ISSN : 2586-9396
Current Applied Science and Technology
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง รศ.ดร.ดุษณี ธนะบริพัฒน์
Assoc.Prof.Dr.Dusanee Thanaboripat

รางวัลที่ 3 : TCI popularity Award

ลำดับ ชื่อวารสาร มหาวิทยาลัย/สังกัด Chief editor
1. ISSN : 0857-6084
Thai Journal of Obstetrics and Gynaecology
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ศ. นพ.วรพงศ์ ภู่พงศ์
Prof.Dr.Vorapong Phupong
2. E-ISSN : 2774-0226
Trends in Sciences
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รศ.ดร.พงษ์พิชิต จันทร์นุ้ย
Assoc.Prof.Dr.Phongpichit Channuie

จากนั้น รศ.ธีระศักดิ์ หมากผิน นักวิจัยศูนย์ TCI มจธ. บรรยายขั้นตอนและวิธีการขอเลข DOI จาก Crossref และนโยบายการให้ทุนสนับสนุนเลข DOI สำหรับวารสารในโครงการฯ

ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ TCI รศ. ธีระศักดิ์ หมากผิน นักวิจัยศูนย์ TCI มจธ. และ รศ. ดร.สมพงศ์ โอทอง บรรณาธิการวารสาร ASEAN Journal of Scientific and Technological Reports ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกัน LIVE SUBMISSION เพื่อ Submit วารสารเข้าฐานข้อมูล Scopus

 

เอกสารการประชุม

ดาวน์โหลดเอกสารการประชุม

 

ภาพกิจกรรม

 

รูปภาพเพิ่มเติม…

  •  
  •  
  •  
  •  
  •